โชคดีที่เราเจอกัน

ดิฉันเป็นพยาบาลอาชีวอนามัย อยู่ในกลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลระยอง หลายท่านคงสงสัยว่าพยาบาลอาชีวอนามัยทำอะไร ถ้าตามความหมาย อาชีวอนามัยจะหมายถึงการดูแลสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยของคนทำงานทุกสาขาอาชีพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม แต่กลุ่มงานอาชีวเวชกรรมของเราไม่เพียงแต่ดูแลสุขภาพของคนทำงาน เท่านั้น ยังรวมถึง การดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าเปรียบ งานอาชีวเวชกรรมเป็นต้นไม้ เรามีกิ่งก้านสาขาถึง 6 สาขา กิ่งแรกเป็นงานคลินิกอาชีวเวชกรรม กิ่งที่ 2 งานสร้างเสริมสุขภาพและฟื้นฟูสภาพวัยทำงาน กิ่งที่ 3 งานอาชีวป้องกันและควบคุมโรค กิ่งที่ 4 งานพิษวิทยาและเวชกรรมสิ่งแวดล้อม กิ่งที่ 5 เป็นงานอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาล สุดท้ายคือกิ่งที่ 6 งานตรวจสุขภาพ

ดิฉันทำงานในส่วนเวชกรรมสิ่งแวดล้อม บทบาทหน้าที่ทำแล้วรู้สึกมีความสุข คือการได้ออกสื่อสารความเสี่ยงให้กับประชาชนในชุมชนพื้นที่เสี่ยงเช่นรอบเขตสถานประกอบการ เพราะเป็นการทำให้ประชาชนรู้ว่าการอยู่ในเขตพื้นที่พิเศษควรดูแลตนเองอย่างไรไม่ให้เจ็บป่วย หลายท่าน คงทราบแล้วว่า จังหวัดระยองได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษตั้งแต่ พ.ศ.2552 ซึ่งบางครั้ง บางปีก็ได้รับงบประมาณในการออกหน่วยตรวจสุขภาพประชาชนตามความเสี่ยง แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีให้ความรู้กับชุมชน สร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยจะลงพื้นที่ทำงานร่วมกับพี่ๆรพ.สต. และ อสม. และการออกหน่วยตรวจสุขภาพก็ใช้วิธีสุ่มตรวจสุขภาพ เพื่อเป็นตัวแทนทางระบาดวิทยาในการพยากรณ์การเกิดโรค และการคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดโรค  ในการทำงานที่ผ่านมามีเรื่องที่ทำให้ดิฉันภาคภูมิใจและประทับใจที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมสุขภาพในการได้ดูแลเธอ  เรื่องนี้เกิดขึ้นในเดือนมกราคม ปี2560 หลังจากที่ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงในชุมชนบ้านยายดา 2-3 วันต่อมา

ดิฉันได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ  “อ้อมมี 1 ราย ที่อ้อมไปออกหน่วยตรวจมีผลเลือดผิดปกติ พี่ส่งผลไปให้แล้วให้อ้อมติดตามต่อให้ที”  นั่นคือระบบการรายงาน LAB Alert ของโรงพยาบาลระยอง

เมื่อดิฉันเข้าไปดูรายงานผลlab แล้วดูประวัติที่เคยซักประวัติไว้ในวันที่ตรวจสุขภาพ พบว่า เป็นน้องผู้หญิงอายุเพียง 20 ปี ผลเลือด ที่ได้รับ Hb 7 / plt 3600 / hct 21.3 นี่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจเกิดภาวะเลือดออกในอวัยวะสำคัญ วิธีการเร็วที่สุดคือ การโทรศัพท์ ทันที

: “สวัสดีคะดิฉันโทรจากโรงพยาบาลระยองนะคะ ใช่เบอร์น้องปฏิญญา หรือเปล่าคะ”

: “อ๋อ ไม่ใช่ค่ะ นี่เป็นแม่สามี มีธุระอะไร?” น้ำเสียงตอบกลับแบบห้วนๆ ตามประสาชาวบ้าน

: “ค่ะ อยากให้น้องมาพบหมอที่รพ.ระยองหน่อยค่ะ”

: “ช่วยงานบวชอยู่ กำลังยุ่ง พรุ่งนี้จะบอกให้นะ”

: “คุณแม่คะเป็นเรื่องด่วนมาก อยากให้มาตอนนี้เลยนะคะ ตอนนี้น้องอยู่กับคุณแม่ไหมคะ ขอคุยด้วยหน่อยค่ะ”

: “ได้ๆ รอเดี๋ยวนะ”

: “พี่มีอะไรคะ หนูกำลังจะช่วยเค้าล้างจาน อยู่ที่งานบวช”

: “ น้องมาหาพี่ที่รพ.ระยองหน่อยได้ไหมคะ อยากให้มาตอนนี้เลยผลตรวจเลือดน้องผิดปกติ  ตอนนี้น้องมีอาการอะไรไหม”

: “ไม่มีคะ หนูสบายดี ตอนนี้หนูจะช่วยเค้าล้างจาน ที่งานบวชก่อน เสร็จแล้วค่อยไปได้ไหมคะ”

ดิฉันเหลือบมองนาฬิกานี่ เกือบ 10 โมงแล้วถ้ารอล้างจานเสร็จกว่าจะได้มาน่าจะบ่าย ตอนนั้นในใจคิดว่ายังไงต้องตามให้มาตอนนี้ให้ได้

: “มาเลยได้ไหมคะน้อง คนช่วยล้างจานงานบวชน่าจะมีอยู่หลายคน ตอนนี่พี่รอน้องอยู่ อยากให้น้องมาพบหมอก่อน มาเลยดีกว่า พี่จะรอจนกว่าหนูจะมา”

เสียงน้องหายไปชั่วอึดใจ   : “ก็ได้คะ” “เดี๋ยวหนูไป”          : “มาหาพี่ที่งานอาชีวเลยนะ”

ดิฉันรออยู่ ประมาณ 30-45 นาที  ก็ได้พบกับน้อง ด้วยสีหน้าสงสัย น้องคงคิดว่า พี่จะอะไรกับหนูนักหนา หนูไม่ได้เป็นอะไรนะ จากนั้นดิฉันก็เริ่มซักประวัติ โดยพยายามซักถามให้ได้ว่าน้องมีอาการผิดปกติอะไรมั๊ย  ไม่ว่าจะเคยมีอาการเลือดออก เวียนหัว เป็นลม น้องก็ปฏิเสธว่า “ไม่ได้เป็นนะ ปกติดี”  พยายามถามถึงอาการมีเลือดออกตามไรฟัน อาการจ้ำเลือดตามตัว เนื่องจากน้องเป็นคนผิวค่อนข้างคล้ำ จึงอาจจะสังเกตยาก จนถึงคำถามสุดท้าย.... จึงขอให้น้องเปิดแขนเสื้อดูตรงที่เราเจาะเลือดวันก่อน  เห็นคล้ายๆจ้ำเลือดที่แขน  เลยขอดูส่วนอื่นๆของร่างกาย  พบจ้ำเลือดใหญ่ที่สะโพกขวา   แต่น้องบอก “ไม่เคยสังเกตเลย ไม่เจ็บ และไม่ได้โดนอะไรกระแทก”

พอได้ประวัติเบื้องต้น ดิฉันรีบนำน้องไปที่ห้องตรวจอายุรกรรม  พอไปถึงหน้าห้องอายุรกรรมเกือบเวลา 11 โมงแล้ว รีบเข้าไปติดต่อกับพยาบาลประจำคลินิกแล้วได้คำตอบว่า “คิวเต็มแล้วถึงเที่ยงเลยพี่ ถ้าผลเลือดแบบนี้ พี่ลองไปคุยกับคลินิกโรคเลือดเลยดีกว่าไหมคะ เผื่อมีคิวว่าง ”

ณ คลินิกโรคเลือด คำตอบที่ได้รับคือ“คิวเต็มเหมือนกัน” เอาละสิ!  ในใจเราตอนนั้นคิดว่า ยังไงต้องพยายามให้น้องได้ตรวจวันนี้ให้ได้ เพราะถ้าปล่อยกลับไปเป็นอันตรายแน่นอน และที่สำคัญคือ โอกาสที่จะให้มาตรวจแบบปกติ คงมีน้อยแน่ๆ เพราะเจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้ถึงความผิดปกติเลย กลับไปอาจเกิดอันตรายที่คาดไม่ถึง

ระหว่างเจรจาหน้าห้องพยายามพูดเสียงดังๆกับพยาบาลหน้าห้อง  ว่า “คนไข้เสี่ยงมากถ้าปล่อยกลับไปอาจเกิดเลือดออกในสมองได้นะคะ” ด้วยหวังว่าจะได้ยินถึงแพทย์ที่กำลังตรวจคนไข้  ความพยายามได้ผลหลังจากตรวจคนไข้รายนั้นเสร็จ คุณหมอเรียกน้องเข้าไปตรวจ และสั่งการรักษา ทันทีพร้อมให้admit ในโรงพยาบาล

เมื่อส่งน้องถึงหมอ ก็รู้สึกสบายใจว่าน้องได้รับการดูแลอย่างดีแน่นอน //

ดิฉันเข้าไปติดตามเยี่ยมในWARD พบว่าน้องได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งเม็ดเลือด ต้องเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด 

ระยะผ่านไป 2 เดือนหลังจากหลังจากนั้นดิฉัน ได้พบน้องอีกครั้ง น้องเข้ามาทัก“พี่อ้อมจำหนูได้ไหม”  ตอนนั้นน้องผอมลง ใบหน้าบางส่วนซ่อนอยู่ในผ้าปิดปากและจมูก ผมร่วงจากผลข้างเคียงการรับยาเคมีบำบัด แต่รู้สึกได้ถึงความแจ่มใสในน้ำเสียง น้องเล่าให้ดิฉันฟังว่า หลังจากADMIT  วันนั้นอาการน้องแย่ลง และน้องต้องทนทรมานกับการรักษา ทำให้รับรู้และตระหนักเลยว่า จ้ำแดงๆที่เกิดขึ้นกับเขามีความสำคัญต่อสุขภาพและชีวิตของเขา ไม่ใช่เรื่องปกติ แม้จะอยู่ในภาวะทุกทรมาน ยังมีสิ่งหนึ่งที่น้องรู้สึกประทับใจมากและไม่เคยลืมคือความเอาใจใส่ของคุณหมอที่ให้การรักษาน้อง โดยเฉพาะตอนที่น้องมีอาการแย่ลงจนคิดว่าตนเองจะไม่ไหวแล้ว จะขอหมอกลับไปตายที่บ้าน หมอให้กำลังใจและบอกน้องว่า ให้สู้ไปกับหมอนะ หมอเต็มที่กับน้อง ให้น้องสู้เต็มที่ น้องมีลูกเล็กๆที่ต้องการแม่ หมอจับมือและพูดให้กำลังใจตลอด  : “พี่อ้อมหมอเรียกหนู  “ลูก” ทุกคำเลย “  ดิฉันรับรู้ได้ถึงความประทับใจของน้อง แม้ยามที่เจ็บปวด ทุกข์แสนสาหัส ยังมีสิ่งดีๆ ที่ประทับอยู่ในความทรงจำ  น้องต้องนอนใน ICU ถึง 2 เดือน และต้องทำกายภาพอีกหลายเดือนถึงจะกลับเป็นปกติ น้องเล่าให้ฟังทีหลังว่าวันที่ขอกลับไปตายบ้าน  จริงๆแล้วหมอได้ออกมาบอกญาติว่าให้ทำใจนะอาจจะไม่รอด แต่หมอจะพยายามถึงที่สุด และหมอก็ช่วยจนน้องพ้นขีดอันตรายได้

          ผลของการให้การจัดการดูแลน้องปฏิญญาทำให้ทีมอาชีวอนามัย เราได้ทบทวนและปรับระบบการคืนข้อมูลและการส่งต่อยังแพทย์เฉพาะทางใหม่ โดยที่ระบบเฝ้าระวังสุขภาพโดยการตรวจสุขภาพเชิงรุกในชุมชน ของ โรงพยาบาลระยองถูกปรับเปลี่ยนให้มีการคืน ข้อมูลหากมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการผิดปกติที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงแก่ชีวิต ทันที่ทางโทรศัพท์ เมื่อเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เสร็จและมีช่องทางการส่งต่อเพื่อพบแพทย์เฉพาะทางลดเวลาการรอคิว  จากเดิมที่เราแบ่งการคืนข้อมูลอยู่ 2 กลุ่มคือ  กลุ่มแรก ผลเลือดผิดปกติที่ต้องพบแพทย์เร่งด่วนจะแจ้งผลทางโทรศัพท์ภายใน 1 สัปดาห์ ให้มาพบแพทย์ที่คลินิกอาชีวเวชกรรมเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉับขั้นต้นก่อนส่งแพทย์เฉพาะทาง  และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ผลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการปกติและกลุ่มต้องเฝ้าระวังจะคืนข้อมูลหลังจากการออกหน่วย 1 เดือนโดยทีมแพทย์ออกแจ้งผลที่ชุมชน

          ผ่านไป 1 ปี ดิฉันได้มีโอกาสออกพื้นที่และได้ไปเยี่ยมน้องที่บ้าน น้องหายดี จนเกือบเป็นปกติ เมื่อเห็นเราไปเยี่ยมน้องดีใจ  “ดีใจจังที่ได้เจอพี่อ้อม ” “ต้องขอบคุณพี่อ้อมมาก ถ้าไม่ได้พี่อ้อมพยายามคะยั้นคะยอ ให้หนูไปหาหมอตอนนั้น วันนี้หนูคงไม่มีโอกาสนั่งอยู่ตรงนี้แน่”  ที่สำคัญ อสม.เล่าว่าทุกครั้งที่ไปเยี่ยมน้องจะเล่าให้ทีมเยี่ยมบ้านฟังถึงความประทับใจพี่อ้อม และหมอที่ให้การรักษาน้องเต็มที่อย่างไม่ยอมแพ้ คอยให้กำลังใจให้น้องสู้ต่อไป น้องเล่าให้ทีมเยี่ยมบ้านฟังว่า  จริงๆแล้ว ในวันนั้นที่มีการตรวจสุขภาพน้องไม่คิดจะไปตรวจแต่แม่สามี และตัวสามีไม่ว่างไปตรวจ ตัวน้องเองเพิ่งย้ายมาอยู่กับสามีในพื้นที่ไม่นานแต่เป็นคนเมืองระยองโดยกำเนิด พี่ อสม.มาชวนแล้วชวนอีกน้องเลยไป  ถึงได้เจอกัน น้องบอกเราว่า “โชคดีจังที่ได้เจอพี่อ้อม”  ต่อไปน้องจะดูแลและสังเกตความผิดปกติของตัวเองให้มาก  จะช่วยบอกให้คนอื่นๆไปตรวจสุขภาพด้วย และชักชวนกันดูสุขภาพตัวเองด้วยความไม่ประมาทอย่าคิดว่าอายุยังน้อยไม่เป็นไร

          เมื่อกลับมาคิดทบทวนแม้เราจะเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ในระบบสุขภาพ แต่เราก็เป็นจุดเริ่มต้นในการสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพ ให้ประชาชนที่ต้องมีวิถีชีวิตอยู่กับความเสี่ยงด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม  มีความตระหนักในการดูแลตนเอง ถึงแม้เราจะไม่รู้ว่าโรคที่เกิดขึ้นมันเป็นสาเหตุจากมลพิษสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แต่ทุกฝ่ายก็ควรร่วมมือกันป้องกันแก้ไข ตามบทบาทหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด การได้มีส่วนร่วมช่วยชีวิตคนๆนึงให้กลับมามีชีวิตปกติได้ จึงเป็นความภาคภูมิใจ และคิดว่าจะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุดต่อไป

นัยนา พันโกฏิ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการผู้เล่าเรื่อง

ศิริยา ทรงสถาพรเจริญ ผู้เรียบเรียง

กลุ่มงานอาชีวเวชกรรมโรงพยาบาลระยอง

 

คุณค่าของ “โชคดีที่เราเจอกันค่ะ” คือ

1.คนไข้รู้ว่า จ้ำแดงๆที่เกิดขึ้นกับเขามีความสำคัญต่อสุขภาพและชีวิตของเขา ไม่ใช่เรื่องปกติ

2.ระบบเฝ้าระวังสุขภาพโดยการตรวจสุขภาพเชิงรุกในชุมชน ของ โรงพยาบาลระยองถูกปรับเปลี่ยนให้มีการคืน ข้อมูลหากมีผลการตรวจแลปที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงแก่ชีวิตทันที่ทางโทรศัพท์เมื่อเจ้าหน้าที่แลปวิเคราะห์เสร็จ  จากเดิมแบ่งการคืนข้อมูลอยู่ 2 กลุ่มคือ ผลเลือดผิดปกติที่ต้องพบแพทย์เร่งด่วนจะแจ้งผลทางโรศัพท์ภายใน 1 สัปดาห์ และกลุ่มผิดปกติและต้องเฝ้าระวังจะคืนข้อมูลโดยแพทย์ที่ชุมชนหลังเก็บตัวอย่างทางชีวภาพ 1 เดือน และเพิ่มช่องทางส่งต่อพบแพทย์เฉพาะทางเป็นช่องทางด่วนจากเดิมจะนัดมาพบแพทย์ที่คลินิกอาชีวเวชกรรมเพื่อตรวจวินิจฉับขั้นต้นค่อยส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง

เล่าให้เห็นว่า คนไข้ปรับเปลี่ยนการดูแลต้นเอง กับเรานำมาถอดบทเรียนและพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพ