ตรวจวินิจฉัยโรคจากการทำงาน (Occupational medicine clinic)
การเตรียมตัวก่อนมาวินิจฉัยโรคจากการทำงาน
1.ข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยที่ได้รับการรักษา (โรงพยาบาลอื่น)
2.ข้อมูลลักษณะงานที่สงสัยว่าทำให้เกิดโรคจากการทำงาน (ภาพถ่ายหรือวีดีโอ)
3.ข้อมูลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อม
4.บริษัทเขียนใบส่งตัว กท.44
5.เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยหรือหัวหน้างาน มาพร้อมกับพนักงานด้วย
ตรวจทางด้านอาชีวเวชศาสตร์
การตรวจสมรรถภาพปอด (Lung function test หรือ Pulmonary function test) ตรวจเพื่อดูความสามารถในการทำหน้าที่ของปอด เช่น ดูว่าปริมาตรและความจุของปอดเป็นปกติดีหรือไม่ อากาศสามารถผ่านเข้าและออกจากปอดได้ดีเพียงใด ปอดมีความสามารถในการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดีเพียงใด
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
- สภาพร่างกายปกติ ในกรณีที่เคยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดหลอดลมอักเสบ ปอดบวม ต้องได้รับการรักษาหายมาแล้วอย่างน้อย 3 สัปดาห์ และไม่อยู่ในระยะหลังการผ่าตัดใหม่ ๆ เช่น ผ่าตัดช่องอก ช่องท้อง เป็นต้น
- ควรสวมใส่เสื่อผ้าที่สบาย ไม่รัดทรวงอกและท้อง
- ห้ามออกกำลังกายอย่างหนักก่อนตรวจอย่างน้อย 30 นาที
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนตรวจอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
- หยุดสูบบุหรี่ก่อนตรวจอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจนอิ่มจัดก่อนตรวจอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- หยุดใช้ยาขยายหลอดลมก่อนตรวจ
- ถ้าใส่ฟันปลอมชนิดที่ถอดได้ ต้องถอดออก
การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry) เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองและป้องกันโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง (Noise-induced hearing loss; NIHL)
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
- สภาพร่างกายปกติ ไม่เป็นไข้หวัดหรือหูอื้อ
- หยุดรับฟังเสียงดัง ก่อนตรวจอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ในทางปฏิบัติมักจะทำการตรวจในวันจันทร์ที่เป็นวันแรกของสัปดาห์การทำงาน เพื่อให้พนักงานได้หยุดรับฟังเสียงดังในวันหยุดประจำสัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสเสียงดังที่บ้าน
- มาถึงห้องตรวจสมรรถภาพการได้ยินก่อนรับการตรวจอย่างน้อย 5 นาทีเพื่อป้องกันการหอบเหนื่อยขณะทำการตรวจ
- ก่อนเข้าห้องตรวจให้ปิดโทรศัพท์มือถือ ถอดที่คาดผมตุ้มหูใหญ่ หรือแว่นตาออก (ถ้าสวมใส่อยู่)
การตรวจสมรรถภาพการมองเห็น (Vision test)เป็นการตรวจคัดกรองโรคหรือความผิดปกติที่เกี่ยวกับการมองเห็นให้กับคนทำงาน และใช้ในการพิจารณาว่าคนทำงานนั้นมีความพร้อมในการทำงาน (Fitness to work)หรือไม่
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
- สภาพดวงตาไม่เป็นอุปสรรคต่อการมองเห็น เช่น ตาเจ็บตาแดง เป็นต้น
- สายตาเมื่อยล้าหรือพร่ามัวจากงานที่กำลังทำอยู่
- ผู้ที่สวมแว่นตาให้นำแว่นมาด้วยเพื่อทำการตรวจสอบแว่นตาที่ใช้อยู่ว่ามีความเหมาะสมกับการทำงานหรือไม่