ตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ (Mobile Checkup)
ออกให้บริการตรวจสุขภาพตั้งแต่ 50 รายขึ้นไป หรือตามความเหมาะสม
บริการตรวจสุขภาพ One Stop Service
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- ตรวจทางอาชีวเวชศาสาตร์
- ตรวจสุขภาพเพื่อออกใบรับรองแพทย์ ก่อนเข้าทำงานในที่อับอากาศ
โปรแกรมตรวจสุขภาพ
- ตรวจสุขภาพ อายุน้อยกว่า 35 ปี
- ตรวจสุขภาพ อายุ 35 ปีขึ้นไป
- ตรวจทางอาชีวเวชศาสตร์
- ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานในที่อับอากาศ
ตรวจสุขภาพคืออะไร
การตรวจสุขภาพ คือ การตรวจเช็คสุขภาพ ในขณะที่ผู้รับการตรวจยังรู้สึกสบายดี ไม่มีอาการหรือความ ผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการตรวจนั้นแต่อย่างใด
ส่วนคนที่ไปหาหมอเมื่อมีอาการเจ็บป่วยหรือรู้สึกมีความผิดปกติแล้ว หรือคนที่ไปหาหมอเพื่อตรวจรักษาโรค หรือไปหาหมอตามนัดเพราะป่วยด้วยโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) นั้น ไม่เข้าข่ายว่าเป็นการตรวจสุขภาพ หากแต่เป็น การตรวจวินิจฉัยโรค หรือ การตรวจรักษาโรค ที่คนส่วนใหญ่รู้จักมักคุ้นและปฏิบัติ กันอยู่แล้ว
ทำไมต้องมีการตรวจสุขภาพ
- เป็นการค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวโดยที่ยังไม่มีอาการ ผิดปกติให้เห็น ซึ่งถือว่าเป็น “ภัยเงียบ” เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็งเต้านมในระยะแรก มะเร็งปากมดลูกในระยะแรก เป็นต้น ซึ่งตามหลักการรักษาแล้ว การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกหรือระยะที่มีความรุนแรงน้อย จะรักษาโรคได้ทัน ไม่ลุกลาม ลดภาวะแทรกซ้อน บางโรคอาจ รักษาให้หายขาดได้
- หาปัจจัยหรือพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่น กรรมพันธุ์ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ บริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย การมีอารมณ์เครียด ภาวะน้ำหนักเกินหรือลงพุง สภาพแวดล้อม หรือการทำงานที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย หรือความผิดปกติ ที่ซ่อนอยู่ในตัว (เช่น ความดันลูกตาสูง ซึ่งทำให้เกิดโรคต้อหิน ไวรัสตับอักเสบบีในเลือดซึ่งทำให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังและ มะเร็งตับ) เมื่อพบว่ามีปัจจัยหรือพฤติกรรมเสี่ยงอะไร หมอที่ ตรวจก็จะให้การดูแลและให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวป้องกัน ไม่ให้เกิดโรคตามมา ที่สำคัญผู้ที่มีภาวะเสี่ยงควรแจ้งให้แพทย์ ทราบด้วย
หลักในการเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพ
- เลือกรายการตรวจสุขภาพให้เหมาะสม ตามวัตถุประสงค์
- การตรวจสุขภาพประจำปี สำหรับบุคคลทั่วไป ของคนที่ไม่เคยมีโรคประจำตัวมาก่อนไม่เคยทราบ เป็นการเลือกโปรแกรมที่ เหมาะสมกับวัย ว่าในแต่ละวัยมีความเสี่ยงอย่างไร
- การตรวจสุขภาพสำหรับคนที่มีโรคประจำตัวหรืออาการใด ๆ ที่เป็นที่สงสัยว่าจะเป็นโรค เป็นการเลือกโปรแกรมการตรวจที่อาจจะต้องมีรายการพิเศษที่ชี้ชัดเฉพาะโรคลงไป
- การตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงทางประวัติทางกรรมพันธุ์ เช่น โรคมะเร็ง ความเสี่ยงโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- การตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงาน เป็นการเลือกโปรแกรมการตรวจที่แตกต่างไปตามลักษณะสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงในการทำงาน
- การตรวจสุขภาพก่อนเข้างาน ตามกฎเกณฑ์ของหน่วยงาน หรือตามที่แพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวอนามัยแนะนำ
- การตรวจสุขภาพเพื่อทำประกันชีวิต ตรวจตามเงื่อนไขของบริษัทและกรมธรรม์ระบุ
- การตรวจสุขภาพเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ ตามหลักเกณฑ์ของแต่ละประเทศแตกต่างกัน
- การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน เป็นการตรวจสุขภาพทั้งสุภาพสตรี และสุภาพบุรุษ เพื่อให้ทราบโรคที่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เพื่อปรึกษาแพทย์ในการมีบุตร หรือค้นหาโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อการรักษาก่อน หรือการปฏิบัติตัวในการป้องกันที่ถูกต้อง
- เลือกรายการตรวจให้ครอบคลุมความเสี่ยงในการเกิดโรคของเพศและวัย ว่าเสี่ยงต่อภาวะอะไร ที่ต้องตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรมีการตรวจไขมันในเลือด และตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
- อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรมีการตรวจค้นหามะเร็งลำไส้ ด้วยการส่องกล้องหรือวิธีอื่นๆ ตามคำแนะนำของแพทย์
- สุภาพสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป หรือมีคู่แล้ว ควรมีการตรวจมะเร็งปากมดลูก
- สุภาพสตรีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจหามะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก
- สุภาพบุรุษ อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก
คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อนรับบริการตรวจสุขภาพ
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ก่อนรับการตรวจสุขภาพ หากอดนอนจะทำให้ผลการตรวจผิดปกติได้ โดยเฉพาะความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ อุณหภูมิของร่างกาย และจะทำให้แพทย์ไม่สามารถประเมนได้ว่ามีความผิดปกติจริงหรือไม่
- ควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือดที่ข้อผับแขน
- สำหรับสุภาพสตรี ไม่ควรอยู่ในช่วงก่อน และหลังมีประจำเดือน 7 วันหากมีประจำเดือนให้งดตรวจปัสสาวะ เพราะเลือดจะปนในน้ำปัสสาวะ มีผลต่อการแปลผลตรวจ
- หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบ เพื่องดการตรวจเอกซเรย์
- ยาและแอลกอฮอล์ อาจมีผลต่อการตรวจบางอย่าง ควรแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทราบก่อนการตรวจ
- หากมีประวัติการตรวจสุขภาพปีที่แล้ว กรุณานำมาด้วยในกรณีมีปัญหาต้องปรึกษาแพทย์
การเตรียมตัวเจาะเลือด
- กรณีที่มีโปรแกรมตรวจหาระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ควรงดอาหาร อย่างน้อย
8-12 ชั่วโมง ก่อนตรวจ หรือตั้งแต่เวลา 20.00 น. จนถึงเวลาเจาะเลือด สามารถดื่มน้ำเปล่า
การเก็บปัสสาวะส่งตรวจ
- ให้ปัสสาวะทิ้งไปก่อน เก็บช่วงกลางของปัสสาวะใส่ภาชนะ ที่ทางโรงพยาบาลเตรียมให้
ครึ่งกระป๋องหรือตามคำแนะนำ
- สุภาพสตรี ควรทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ให้สะอาด ปัสสาวะทิ้งไปก่อน เก็บช่วงกลางของปัสสาวะใส่หลอดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมให้เต็มหลอด กรณีมีรอบเดือนควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเก็บปัสสาวะ
การเก็บอุจจาระส่งตรวจ
- เก็บใส่ภาชนะที่เป็นตลับตามที่โรงพยาบาลจัดให้ เก็บใส่ประมาณเท่าปลายนิ้วก้อย
การเอกซเรย์ทรวงอก
- สุภาพบุรุษ สวมเสื้อปกติ และถอดเสื้อที่มีกระดุมโลหะ และพลาสติก สร้อยคอ ก่อนเข้ารับการเอกซเรย์ทรวงอกบนรถ
- สุภาพสตรี เปลี่ยนเสื้อที่ทางโรงพยาบาลเตรียมให้ ถอดชุดชั้นใน สร้อยคอ ต่างหูชนิดที่ห้อยยาว รวบผมกรณีผมยาว ก่อนเข้ารับการเอกซเรย์ทรวงอกบนรถ